
ฟันห่าง คืออะไร?
ฟันห่าง หรือ Diastema คือ ลักษณะของฟันที่มีช่องว่างระหว่างฟันที่เห็นได้ชัด ซึ่งฟันห่างสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ
สาเหตุของช่องว่างระหว่างฟัน
ช่องว่างระหว่างฟันเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติเกี่ยวกับช่องปากและฟัน โรคเหงือก รวมถึงนิสัยบางอย่างที่ทำจนเคยชิน ดังนี้
1. ความผิดปกติของเนื้อเยื่อที่ยึดเกาะใต้ลิ้นกับพื้นด้านล่างของช่องปาก หรือเนื้อเยื่อใต้ริมฝีปากบน กับเหงือก บางคนมีที่เนื้อเยื่อนี้ยึดติดมากกว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้มีฟันหน้าห่างออกจากกันได้
2. ขนาดฟันเล็กกว่าขากรรไกร หากมีฟันขนาดเล็กกว่าขากรรไกร หรือ มีขากรรไกรที่ใหญ่เกินไป อาจส่งผลให้ฟันเรียงตัวห่างจากกันเพื่อเติมเต็มพื้นที่ขากรรไกร ซึ่งขนาดของฟันและขากรรไกรจะมีปัจจัยทางพันธุกรรมเป็นตัวกำหนด
3. เนื้อเยื่อขอบเหงือกเจริญเติบโตมากเกินไป ซึ่งหากมีเนื้อเยื่อขอบเหงือกบริเวณฟันหน้าส่วนบนมากเกินไป อาจไปดันหรือขวางฟันให้แยกออกจากกันจนเกิดช่องห่างมากขึ้นเรื่อยๆ
4. ภาวะลิ้นดันฟัน เกิดขึ้นในเด็กโตและผู้ใหญ่ที่มีการกลืนต่างจากคนทั่วไป โดยแทนที่ลิ้นจะแตะบริเวณเพดานปากขณะกลืน แต่ลิ้นกลับไปดันฟันหน้า ซึ่งการเกิดแรงกดต่อฟันหน้าอย่างมากเกินไปก็อาจทำให้ฟันห่างได้
5. โรคเหงือก (Gum Disease) การติดเชื้อจนเกิดโรคเหงือกเป็นสาเหตุของฟันห่างได้ เพราะส่งผลให้เกิดการอักเสบ สร้างความเสียหายต่อเหงือก และเนื้อเยื่อที่รองรับฟัน ทำให้ฟันโยกและเกิดช่องว่างระหว่างฟันตามมา
6. ฟันหลุด หรือ ถอนฟัน การมีฟันไม่ครบหรือมีเหตุให้ต้องถอนฟันแม้แต่ 1 ซี่ ก็อาจนำมาซึ่งปัญหาฟันห่างได้
7. “ฟันเกิน” งอกขึ้นมา บางคนอาจมีฟันเกินอยู่บริเวณกระดูกขากรรไกรและกันไม่ให้ฟันซี่อื่นๆ งอกขึ้นมาได้ จนส่งผลให้มีช่องว่างระหว่างฟัน ในขณะที่การถอนฟันที่เกินมาออกไปก็อาจทำให้เกิดช่องว่างได้เช่นกัน
8. ติดนิสัยดูดนิ้ว เด็กที่ชอบดูดนิ้วอาจมีฟันหน้าห่างเนื่องจากแรงดันจากการดูดนิ้ว
ฟันห่างรักษาได้อย่างไร ?
การมีฟันห่างอาจไม่จำเป็นต้องรักษาหากไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคเหงือก และความผิดปกติที่ร้ายแรง หรือไม่ส่งผลต่อสุขภาพช่องปาก และการเคี้ยวอาหารมากนัก
แต่ในกรณีที่เกิดความกังวลเกี่ยวกับความสวยงามของฟันจนทำให้ขาดความมั่นใจ สามารถปรึกษาทันตแพทย์เพื่ออุดหรือปิดช่องว่างดังกล่าวได้เช่นกัน โดยทันตแพทย์อาจแนะนำวิธี ดังนี้
การจัดฟัน มักใช้การจัดฟันแบบติดแบร็คเก็ตและลวด เพื่อดึงฟันให้ค่อยๆ เรียงตัวชิดกันอย่างมีระเบียบ นอกจากนี้การจัดฟันแบบใสหรือจัดฟันแบบถอดได้ก็อาจได้ผลเช่นเดียวกันในบางกรณี
การอุดช่องว่างด้วยกระบวนการทางทันตกรรมก็อาจช่วยได้ เช่น การเคลือบผิวฟัน หรือ วีเนียร์ และการอุดฟันเพื่อเชื่อมช่องว่างระหว่างฟัน เป็นต้น ซึ่งวิธีเหล่านี้เป็นการใช้วัสดุที่มีสีเหมือนกับฟันของคนไข้มาปิดช่องว่างหรือครอบฟันไว้ แต่หากช่องว่างนั้นเกิดจากการสูญเสียฟัน ทันตแพทย์อาจแนะนำให้แก้ไขด้วยการทำสะพานฟันแทน
กรณีที่มีเนื้อเยื่อขอบเหงือกลงมาแทรกระหว่างฟันมากเกินไปจนทำให้ฟันห่างจากกัน แพทย์อาจต้องผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อที่เกินมาออกไป เพื่อให้ฟันเรียงตัวชิดติดกันตามปกติ แต่หากมีฟันห่างมาก อาจต้องใช้วิธีการจัดฟันร่วมด้วย
หากตรวจพบว่าปัญหาฟันห่างเกิดจากโรคเหงือก ผู้ป่วยต้องรักษาการติดเชื้อ และอักเสบจากโรคเหงือกก่อน จึงจะทำการอุดหรือปิดช่องว่างระหว่างฟันต่อไป โดยเน้นที่การกำจัดคราบจุลินทรีย์ หินปูนบริเวณบนและใต้เหงือกด้วย
☎️ นัดหมายปรึกษาเรื่องทันตกรรม หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ The Tree Dental Clinic: